การที่สามีภริยาหย่ากันและได้แบ่งทรัพย์สินกันแล้วด้วย แต่ปรากฏว่าที่จริงแล้วยังมีทรัพย์สินอีกหลายรายการที่ไม่ได้นำมาแบ่งกันใน ตอนหย่า รวมทั้งที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งเพิ่งทราบเมื่อได้มีการขายให้คนอื่น อยากทราบว่าจะฟ้องเอาทรัพย์สินนั้นมาแบ่งกันอีกได้หรือไม่
====
การมีอยู่ของสินสมรสที่จะนำมาแบ่งให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากันเมื่อคู่ สมรสหย่ากันนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 กำหนดไว้ว่า เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา ดังนี้
(ก) ถ้าเป็นการหย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สิน ของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
(ข) ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้นมีผลย้อนหลังไปถึงวัน ฟ้องหย่า
ถ้าเป็นสินสมรสถึงหย่ากันไปแล้ว ก็ยังนำมาแบ่งกันได้อีก ตัวอย่างคดีที่มีการฟ้องร้องและผลของคำพิพากษา เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1254/2538 ตัดสินว่า การที่โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดกับจำเลยและจำเลยสมัครใจหย่าขาดกับโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดกันได้เป็นยุติแล้วนั้น เมื่อโจทก์ได้ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งสินสมรส โดยสินสมรสบางรายการจำเลยจำหน่ายไปแล้วและบางรายการยังมีอยู่
เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยนำหรือจะนำไปใช้ในกิจการที่จำเลยกับโจทก์กระทำร่วมกัน หรือนำไปชำระหนี้ที่โจทก์กับจำเลยร่วมกันก่อให้เกิดขึ้นแก่ผู้ใด ทั้งจำเลยจำหน่ายสินสมรสไปในระหว่างที่โจทก์มิได้อาศัยอยู่กับจำเลย เช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าจำเลยจำหน่ายสินสมรสไปเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวและมิได้รับ ความยินยอมจากโจทก์ ย่อมถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 โจทก์มีสิทธิขอแบ่งสินสมรสส่วนนี้ได้ครึ่งหนึ่ง
ถ้าทรัพย์สินนั้นต่อมาได้มีการขายต่อให้ผู้อื่น ลองดูผลของคำพิพากษาที่ศาลได้เคยตัดสินไว้ในคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4561/2544 ว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต้องแบ่งสินสมรสคนละส่วนเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 แต่เมื่อยังมิได้แบ่งกันจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่ทราบเรื่องและไม่ได้ให้ความยินยอมด้วย แม้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน สัญญาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ส่วนของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง แต่ยังคงมีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1362 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเฉพาะ ในส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้
ที่มา: สินสมรสที่ยังไม่ได้แบ่ง คลีนิกกฏหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 11 พฤษภาคม 2553
No comments:
Post a Comment