Saturday, June 12, 2010

ต้นทุนเด็กไทย...ชี้วัด ทำไมคนไทยเผาเมือง

สังคมแตกแยกมีแบ่งสีแบ่งข้างพัฒนาการกลายเป็นความรุนแรงถึงขั้นเผาบ้าน เผาเมือง เพื่อความต้องการของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของประเทศชาติ

หลายเสียง หลายฝ่าย ตั้งคำถามตรงกัน...เกิดอะไรขึ้นกับบ้านนี้เมืองนี้

มีบางกระแสเสียง มองในแง่ดี...นี่เป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของประชาธิปไตยในบ้านเรา

ประชาธิปไตย ไร้อหิงสา ต่อสู้เรียกร้องด้วยความรุนแรง เป็นพัฒนาการที่เราจำต้องทนยอมรับการเปลี่ยนไปในแนวทางนี้หรือ...ถ้า พัฒนาการเป็นเช่นนี้ จุดสุดท้ายจะเป็นเช่นไร

ในมุมมองนี้...บทสุดท้ายดูจะน่ากลัว จนไม่เหลืออะไร

แต่อย่าได้ประมาท มองว่าเป็นไปไม่ได้...จุดจบเช่นนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นกับสังคมไทย

เพราะการศึกษาวิจัย เรื่อง "ต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย" โดย นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พบปมเงื่อนที่ช่วยชี้ให้เห็นว่า อนาคตของประเทศไทย ประชาธิปไตยไทย อาจจะเดินหน้าไปในทิศทางน่าห่วงใยเป็นยิ่งนัก

รวมทั้งตอบคำถามที่คนไทยสงสัยกันนักว่า...เกิดอะไรขึ้นกับบ้านนี้ เมืองนี้ ถึงได้กล้าเผาบ้านเผาเมืองตัวเองอย่างนี้

งาน วิจัยต้นทุนชีวิตเด็กไทย เป็นการศึกษาหาแนวคิดเชิงบวกของเด็กอายุ 12-25 ปี จำนวนสองหมื่นกว่าคน ใน 18 จังหวัด เพื่อใช้เป็นเข็มทิศในการศึกษาพัฒนาเด็กและเยาวชนของไทย

"การวิจัย ครั้งนี้ เราใช้แบบสอบถามให้เด็กประเมินตัวเองและสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และเพื่อน ว่าตัวเองคิดเห็นเป็นเช่นไร

ผลปรากฏว่า เด็กไทยมีแนวคิดเชิงบวกในบางเรื่องบางด้านไม่ดีนัก หรือ พูดง่ายๆ สอบตกแนวคิดเชิงบวก ในเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม"

ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวกล่าว

การให้เด็กประเมินสิ่งแวดล้อม ในเรื่องครอบครัว...ในเรื่องความรัก ความอบอุ่น การเอาใจใส่ดูแลของครอบครัว เด็กส่วนใหญ่ประเมินว่า ดีหมด สอบผ่าน

แต่ สอบตกแนวคิดเชิงบวกในเรื่อง การบริโภคสื่อ...ได้ดูข่าวผ่านสื่อต่างๆแล้ว เด็กได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับพ่อแม่คนในครอบครัวน้อยมาก

ยุคนี้ สื่อมีมากมายหลายประเภท เด็กอยู่ในวัยแยกแยะความถูกผิด ความถูกต้องไม่ค่อยได้...เมื่อได้รับสื่อเหล่านี้เข้าไปโดยไม่มีผู้ใหญ่คอย ชี้แนะ แยกแยะความผิดชอบชั่วดี เด็กอาจจะเห็นผิดเป็นชอบ และนำไปเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตได้

สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนก็เช่นกัน การประเมินของเด็กส่วนใหญ่ออกมาดี ถึงขั้นเรียกได้ว่า เด็กสำลักความรู้ในทางวิชาการมากเกินไปอีกต่างหาก

แต่ก็ยังสอบตกไม่ ผ่านในเรื่องสื่อ...โรงเรียน ครู นำเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญที่ปรากฏในสื่อต่างๆมาให้เด็กได้แลกเปลี่ยนพูดคุย ชี้แนะน้อยมาก แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในครอบครัว

ประเมินสิ่งแวดล้อมในเรื่องชุมชน...เด็กประเมินให้ค่าต่ำมากในหลายตัวชี้วัด

เด็กเห็นว่า ชุมชนของตัวเองให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนน้อยเกินไป ในชุนชนมีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมไม่เพียงพอ

ที่สำคัญในชุมชนมีการทำกิจกรรมอย่างที่เห็นเด็กมีคุณค่าน้อยมาก

ส่วนในเรื่องเพื่อน...เด็กประเมินสอบผ่านแง่บวกในเรื่องมีเพื่อนได้มีโอกาสรวมตัวกันเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เล่นดนตรี

แต่ที่น่าห่วง เด็กไทยสอบตกเรื่องเพื่อนในหัวข้อ...มีเพื่อนร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม และการมีจิตอาสา มีน้ำใจแบ่งปัน

เด็กและเยาวชนไทย ได้คะแนนในเรื่องมีจิตใจเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวมแค่ 34% เท่านั้นเอง

ประเด็นนี้ นพ.สุริยเดว มองว่า น่าห่วงมากสำหรับสังคมไทย เพราะเป็นหัวข้อที่เด็กไทยได้คะแนนต่ำสุดกว่าทุกหัวข้อ

เพียงแค่พอที่จะตอบคำถามได้หรือไม่ว่า...เกิดอะไรขึ้นกับบ้านนี้ เมืองนี้ ทำไมการเสียสละเพื่อส่วนรวมของคนไทยจึงไม่ค่อยมี

เพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้น...ดูผลการประเมินพลังตัวตนว่า เด็กมีแนวคิดเชิงบวกต่อสังคมอย่างไร

การให้เด็กประเมินตัวเองมีทั้งหมด 48 ตัวชี้วัด...การประเมินในหมวดพลังตัวตน มีอยู่ 15 หัวข้อ แม้ส่วนใหญ่เด็กจะสอบผ่านก็ตาม

แต่มีตัวชี้วัด 5 หัวข้อสำคัญ...ที่เด็กไทยสอบตก

1. ฉันกล้าปฏิเสธในพฤติกรรมที่เสี่ยง...เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าปฏิเสธสิ่งไม่ดี

2. ฉันมีจุดยืนในพฤติกรรมที่ดี...เด็กไทยไม่มีจุดยืน ไม่มีค่านิยมที่จะทำในสิ่งที่ดี

3. ฉันให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม...เด็กไทยเห็นความสำคัญน้อย

4. ฉันกล้าคิด กล้าแสดงความเห็นที่แตกต่างจากคนอื่น...เด็กไทยไม่กล้า

5. ฉันสามารถปรับตัวให้เข้ากับคนที่มีความคิดแตกต่างได้... เด็กไทยยังขาดทักษะการปรับตัว ยอมรับความเห็นที่แตกต่างไม่ได้

คำตอบที่ได้จากการประเมินตัวเองของเด็ก...สวนทางกับแนวคิดแบบประชาธิปไตย สวนทางกับเจตคติที่ดีต่อสังคม ที่มีความแตกต่างหลากหลายต้องยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

แม้จะเป็นคำตอบที่ได้จากเด็กอายุ 12-25 ปี ในยุคนี้...ไม่ใช่คำตอบที่พอจะบอกได้ว่า เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้มีการทำร้ายบ้านเมืองในยุคนี้ได้

เพราะคนเผาบ้านเผาเมืองเป็นเด็กรุ่นเก่า...ที่ไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่ในวันนี้

นพ.สุริย เดว บอกว่า เสียดายที่ในอดีตไม่มีการออกแบบสอบถามสำรวจอย่างนี้...กระนั้นก็ตามถ้ามีการ สำรวจ ผลที่ได้ในพลังตัวตนของเด็กรุ่นเก่า ก่อนหน้าเด็กรุ่นนี้ คงไม่ต่างกันมากนัก

"เพราะรูปแบบวิธีคิดของคนไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมเท่าไร พลังตัวตนในอดีตกับปัจจุบันไม่ค่อยต่างกัน ส่วนที่มีต่างไป จะเป็นพลังแวดล้อม ชุมชน ครอบครัวและเรื่องสื่อเปลี่ยนไป

วันนี้มี สื่อให้บริโภคหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เมื่อก่อนมีแค่หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ วันนี้มีดาวเทียม อินเตอร์เน็ต แต่ไม่ว่ายุคไหนบริโภคสื่อแล้ว ไม่มีการนำเรื่องราวในสื่อมาแลกเปลี่ยนพูดคุย ชี้แนะในครอบครัวเหมือนกัน

ชุมชนในสังคมไทยเปลี่ยนไปเป็นชุมชนแบบสังคมเมืองมากขึ้น อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ธุระไม่ใช่มากขึ้น

คนไทยในยุคสมัยเดิม จึงไม่ปรากฏพฤติกรรมรุนแรงเท่ากับผู้ใหญ่ในปัจจุบัน และผู้ใหญ่ในอนาคต จะยิ่งน่าห่วงมากกว่าปัจจุบัน เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป พลังตัวตนของเด็กแย่ลงเพราะขาดความใส่ใจและแบบอย่างที่ดีของผู้ใหญ่มาสร้าง พลังตัวตนที่ดีให้กับเด็กๆ"

ฉะนั้น วันนี้...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จะกล้ายอมรับการประเมินและปรับปรุงแก้ไขตัวเอง

กล้า ทำดี กล้าปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มีจิตอาสาที่จะเสียสละเพื่อสังคม ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกัน สมาชิกในชุมชนมีใจให้กัน รวมทั้งกล้าเผชิญความคิดเห็นที่แตกต่าง

มิเช่นนั้น...สังคมไทยจะก้าวไปในทิศทางที่ยากจะเยียวยา

ที่มา: ทีมข่าวการเมือง ไทยรัฐออนไลน์ พฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน 2553

No comments:

Post a Comment