Sunday, June 6, 2010

ทะเบียนสมรส

น้องกำลังจะแต่งงาน ทราบว่าขณะนี้ได้มีการแก้ไขกฎหมายให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกใช้นามสกุลของสามี หรือนามสกุลของตัวเองก็ได้ ซึ่งตรงกับความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกสาวคนเดียว ต้องการให้ลูกสาวสืบตระกูลใช้นามสกุลของเราต่อไป เพราะวงศ์ตระกูลของเรามีญาติพี่น้องไม่มาก

ดังนั้นไม่ว่าน้องจะจดทะเบียนสมรสกับว่าที่สามีหรือไม่ น้องก็มีสิทธิจะเลือกใช้นามสกุลเดิมของน้องได้ แต่สิ่งที่น้องกังวลคือ น้องไม่แน่ใจว่าควรจดทะเบียนสมรสหรือไม่ อยากให้ช่วยให้คำแนะนำ
กานดา

เดิมทีการสืบพันธุ์หรือการสมสู่สามารถกระทำได้โดยอิสระของบุคคลในแต่ละเผ่า พันธุ์ โดยถือว่าทุกคนเป็นของกันและกัน หรือเมื่อมีการติดต่อระหว่างกันของผู้คนต่างเผ่าพันธุ์ เกิดการผสมพันธุ์ที่มีข้ามเผ่าพันธุ์ ต่อมาเมื่อมีผู้คนมากขึ้นการอยู่กินกันเป็นคู่ ๆ การหวงแหนซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการเลือกคู่โดยเฉพาะเจาะจงขึ้นมา ซึ่งประเทศส่วนใหญ่รองรับการสมรสแบบมีคู่สมรสเพียงคนเดียว แต่บางแห่งที่มีความเชื่อและศรัทธาในศาสนาอาจรับรองการสมรสแบบมีคู่สมรสหลาย คน และวิวัฒนาการจากธรรมเนียมประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันมีหลายประเทศมีกฎหมายรองรับสถาน ภาพของคู่สมรส เพื่อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสแต่ละฝ่าย

สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงถือหลักการสมรสแบบผัวเดียวเมียเดียวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 และได้บัญญัติรองรับสถานภาพการสมรสไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหลายมาตรา เช่น กำหนดเงื่อนไขการสมรสว่าต้องเป็นชายหญิง ในขณะที่หลายประเทศอาจไม่ได้กำหนดเพศหมายความว่าเพศเดียวกันก็สมรสกันได้ หรือการสมรสได้เมื่อชายหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามการที่ประเทศไทยใช้กฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรคือ กฎหมายบัญญัติหรือเขียนไว้ให้ปฏิบัติอย่างไร ซึ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับการสมรส กฎหมายไม่ได้พูดถึงพิธีแต่งงาน ดังนั้นการสมรสในความหมายของกฎหมายจึงเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1458 ว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นาย ทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย

อันที่จริงวัตถุประสงค์หลัก ๆ ของชายหญิงที่มาอยู่กินเป็นคู่ฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส หรือชายหญิงที่อยู่กินกันโดยจดทะเบียนสมรส ต่างมีจุดมุ่งหมายไม่แตกต่างกันคือ เพื่อการรับรู้และยอมรับความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์ เช่น การทำพิธีสมรสประกาศให้คนทั้งหลายรู้ว่า เขาสองคนตกลงเลือกใช้ชีวิตคู่ด้วยกันแล้วโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วยกัน ส่วนใหญ่อาจใช้ทั้งสองวิธีคือ มีพิธีแต่งงานและจดทะเบียนสมรสด้วย หรือบางคู่อาจไม่มีพิธีแต่งงานคือจดทะเบียนสมรสกัน แต่กฎหมายถือว่าเป็นการประกาศเลือกคู่แล้วทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงต่อมาอาจแยก กันอยู่

ในการให้ความรู้ทางกฎหมายของผู้เขียน จะให้ความรู้ทั้งทางด้านสิทธิหน้าที่ของคู่สมรสที่ควรได้จากการเป็นคู่สมรส ที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบางครั้งอาจจะสิทธิของชายหญิงที่ได้รับจากการมาอยู่กินกันโดยไม่ชอบด้วย กฎหมาย ขณะเดียวกันหลายครั้งที่ผู้เขียนพูดถึงเรื่องของทรัพย์สมบัติของคู่สมรสหรือ เรื่องการหย่าที่มิได้มุ่งหมายสนับสนุนให้เกิดความแตกร้าวเรื่องครอบครัว เพราะสามีภริยาเกือบทั้งร้อยที่จดทะเบียนสมรสคงมิได้มีจุดมุ่งหมายว่าจด ทะเบียนสมรสเพื่อหย่ากันในวันข้างหน้า แต่ควรจะได้รับรู้สิทธิหน้าที่ของตนเพื่อจะได้ประกอบการตัดสินใจว่า เราจะแก้ปัญหาหรือยุติปัญหาได้อย่างไร อาจเริ่มต้นสู้กันด้วยข้อกฎหมายแต่อาจยุติกันอย่างสันติโดยตกลงยอมกันหรือ แตกหักก็ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังจะเข้าสู่พิธีสมรสส่วนใหญ่มักแฝงไว้ลึก ๆ ด้วยความหวังว่าจะจดทะเบียนสมรส แต่ถ้าผู้ที่เคยผ่านการหย่าที่มากมายด้วยพิธีการและความผิดหวังแล้ว หากเจอคู่ครองคนใหม่ส่วนใหญ่ต่างไม่ประสงค์ผูกพันด้วยการจดทะเบียนสมรสอีก

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนจะให้ผู้อ่านตัดสินใจเองว่า ข้อดีข้อเสียโดยสรุปดังต่อไปนี้ควรจดทะเบียนสมรสหรือไม่

1.การจดทะเบียนสมรส ทำให้เกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างสามีภริยาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ตามอัตภาพ ทำให้เกิดสิทธิระหว่างสามีภริยา เช่น ถ้ามีบุคคลที่สาม เข้ามาเกี่ยวพันฉันชู้สาวกับคู่สมรสคู่นี้เท่ากับว่าบุคคลที่สามนั้นได้ กระทำการเป็นชู้อาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ จะไปจดทะเบียนสมรสกับใครอีกก็จะเป็นสมรสซ้อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือถ้ามีใครมาทำละเมิดให้คู่สมรสได้รับอันตรายหรือเสียชีวิต คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะเกิดสิทธิในการ ได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย เช่น ค่าขาดไร้อุปการะ เป็นต้น

ในขณะที่ชายหญิงที่ไม่จดทะเบียนสมรส ต่างไม่มีหน้าที่ซึ่งกันและกันที่จะต้องมาเลี้ยงดูกัน การเลิกราหรือการไปมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งแม้ผิดศีลธรรมแต่ก็เอาผิดหรือเรียกค่าเสียหายกันได้ ดังนั้นส่วนใหญ่ชายหญิงต่างมีฐานะและหน้าที่การงาน ความต้องการในเรื่องการเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายหนึ่งอาจไม่สำคัญ การอยู่ร่วมกันหมายถึงการผูกพันในเรื่องของความรับผิดชอบที่เกิดจากจิตใจ เป็นสำคัญไม่ใช่เกิดจากทะเบียนสมรส

2.การจดทะเบียนสมรสทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สิน ทรัพย์สินเดิมมีมาอย่างไรก็เป็นสินส่วนตัวไป แต่ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากจดทะเบียนสมรสจะกลายเป็นสินสมรสระหว่าง สามีภริยาไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้หามาเนื่องจากกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ทรัพย์สินที่ได้มาเหล่านั้น คือสินสมรสระหว่างสามีภริยา ถ้าจะหย่ากันก็ต้องแบ่งสินสมรสกันคนละครึ่ง

ถ้าไม่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดหามาได้ก็เป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย เว้นแต่ทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกันก็จะถือว่าทรัพย์สินที่หามา ได้นั้นเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่าย เมื่อเลิกรากันก็ไม่มีปัญหาเรื่องการแบ่งสินสมรส คงมาขอแบ่งกันเฉพาะเรื่องทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิรวม

3. การจดทะเบียนสมรสทำให้เด็กที่เกิดมาเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาและ มารดาโดยอัตโนมัติ ทำให้บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรจนกว่าจะบรรลุนิติ ภาวะ เว้นแต่ประสงค์หักล้างว่าเด็กไม่ใช่บุตรโดยการหักล้างทางการแพทย์ เพื่อให้ศาลพิพากษาว่าเด็กไม่ใช่บุตรของตน หรือถ้าใครมาทำละเมิดบิดาของตน เกิดสิทธิในการที่บุตรจะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ทำละเมิดได้ ฯลฯ

ถ้าไม่จดทะเบียนสมรส ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาฝ่ายเดียว แต่แม้ว่าบิดามารดาไม่จดทะเบียนสมรสกัน บุตรที่เกิดมาก็อาจเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะมีวิธีที่ทำให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ คือ ถ้าไม่มีปัญหาใด ๆ บิดาก็จดทะเบียนรับรองบุตรเพื่อให้เด็กที่เกิดมาเป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาด้วย หรือถ้ามีปัญหากรณีมารดาและเด็กไม่ยอม หรือกรณีที่บิดาไม่ยอม มารดาหรือบิดาแล้วแต่กรณีก็ฟ้องหาหลักฐานมาพิสูจน์เพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่า เด็กที่เกิดมาเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้

4. การจดทะเบียนสมรสทำให้คู่สมรสและบุตรที่เกิดมาถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมที่ชอบ ด้วยกฎหมายที่มีสิทธิรับมรดกของ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าถ้าเป็นทายาทตามกฎหมายแล้วจะมีสิทธิได้รับมรดกเสมอไป เพราะถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ใครก็ตัดสิทธิทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ไปโดยปริยายได้

ส่วนการไม่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินของใครก็เป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย ไม่มีเรื่องสินสมรส แต่ถ้าทรัพย์สินใดพิสูจน์ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกัน จะทำให้ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของชายหญิงคู่นี้ในฐานะเจ้าของรวมที่มี กรรมสิทธิ์กันคนละครึ่ง ถ้าฝ่ายใดเสียชีวิตก็ต้องแบ่งให้ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ในฐานะที่เขาเป็นเจ้า ของรวม อย่างไรก็ตามถ้าประสงค์ให้ผู้ที่มาอยู่กินกับเราได้รับทรัพย์สมบัติของเรา หรือที่หามาได้เองด้วยการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้กันไว้

ที่มา: ทะเบียนสมรส คลีนิกกฏหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 25 พฤษภาคม 2553 และ
ที่มา: ทะเบียนสมรส คลีนิกกฏหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 01 มิถุนายน 2553

No comments:

Post a Comment