Friday, June 11, 2010

แปลความ (หรือ ตีความ)

บางทีการแปลไทยเป็นไทยนี่ยากกว่าแปลอังกฤษเป็นไทย

แปลอังกฤษมันยากอีตรงจำศัพท์ไม่ได้ แต่ยังไง ๆ เดี๋ยวก็ดำน้ำไปจบเอาดื้อ ๆ จนได้

ส่วนแปลไทยเป็นไทยผิดเมื่อไร อาจเป็นเรื่องทำให้เสียสิทธิเกิดความเสียหายขึ้นได้

มีเหตุถึงโรงถึงศาลเป็นคดีปกครองกันหลายคดี

บ้านเมืองเราถ้าเป็นเรื่องทางกฎหมายท่านว่าเป็นการตีความ หลายเรื่อง ตี ๆ กันไปแล้วก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ ยังต้องตีกันเองต่อไป

แต่คดีนี้เป็นระดับเรื่องกฎกติกาทางการบริหารของหน่วยงานทางปกครอง ท่านใช้คำว่าแปลความ

จะแปลความหรือตีความถ้าเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันเมื่อไร ก็เป็นเรื่องแหละโยม

อาจารย์ใหญ่สังกัดสำนักงานประถมศึกษาอำเภอแห่งหนึ่งเสนอขอปรับปรุงการกำหนด ตำแหน่งจากอาจารย์ใหญ่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประจำปีการศึกษา ๒๕๔๔

ได้ขยับเป็นซีแปด ซีเก้ากับเขาบ้าง

มีท่านผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน และผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคของจังหวัดเป็น คณะกรรมการตรวจสอบปริมาณงานสภาพของงานและประเมินคุณภาพของสถานศึกษา

คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่ประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการซึ่งคณะกรรมการข้า ราชการครูเป็นผู้กำหนดเพื่อรายงานผลการประเมินต่อคณะกรรมการข้าราชการครู

อะไร ๆ ก็ดีหมด แต่ในหัวข้อการได้รับรางวัลด้านวิชาการ คุณธรรม และจริยธรรมที่ผู้บริหารโรงเรียนได้รับ

ท่านกำหนดเวลาการได้รับรางวัลไม่น้อยกว่าสามปีย้อนหลัง

ท่านอาจารย์ใหญ่ผู้ขอประเมินรับประทานไข่เต็ม ๆ ได้คะแนน ๐ คะแนน

กินไข่ก็ประเมินไม่ผ่านนะซี

ทั้งที่เสนอผลงานที่ได้รับรางวัล ในปี ๒๕๒๘ ปี ๒๕๓๒ ปี ๒๕๓๕ ปี ๒๕๓๖ ปี ๒๕๓๗ และปี ๒๕๔๑ หนึ่งเท่าตัวตามกติกา ท่านกรรมการเมาเหล้าหรืออย่างไรจึงไม่เห็น

เห็นน่ะเห็นอยู่ แต่คู่มือการตรวจสอบและประเมินสถานศึกษาที่คณะกรรมการข้าราชการครูกำหนดไว้ ในอีกหัวข้อหนึ่งในเรื่องผลงานที่สมควรได้รับการยกย่องของสถานศึกษาซึ่ง กำหนดว่า ต้องจัดกิจกรรม อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓ ปีการศึกษาย้อนหลังติดต่อกัน

ซึ่งคณะกรรมการประเมินท่านนำมาบังคับใช้กับการเสนอ ผลงานการได้รับรางวัลด้านวิชาการ คุณธรรมฯ ดังว่าด้วยว่าต้องสามปีติดต่อกัน

เมื่อท่านอาจารย์ใหญ่เสนอมาแบบฟันหลอจึงแห้วด้วยประการฉะนี้แล

ก็ต้องข้องใจกับการแปลไทยเป็นไทยของท่านเพราะการเสนอ ผลงานการได้รับรางวัลด้านวิชาการ คุณธรรมฯ กติกาใช้คำว่า “ไม่น้อย กว่าสามปีย้อนหลัง”

จึงต้องฟ้องต่อศาลปกครองเพราะอุทธรณ์โต้แย้งท่านก็แปลความเหมือนเดิม

มีคำอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าคณะกรรมการข้าราชการครูแปลอย่างนี้เป็นแนวทางปฏิบัติมานานแล้ว

ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่ง ของคณะกรรมการครูผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ที่ไม่อนุมัติให้ปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งของผู้ฟ้องคดีจากอาจารย์ใหญ่เป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน

และให้คณะกรรมการผู้ประเมินผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ ประเมินและให้คะแนนหัวข้อดังกล่าวใหม่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา

คณะกรรมการครูผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ อุทธรณ์

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กำหนดหลักเกณฑ์การให้คะแนนและตัวชี้วัดระดับคุณภาพของงานแต่ละด้านไว้โดย ชัดเจนแล้ว

จึงต้องพิจารณาประเมินระดับคุณภาพจากหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กำหนดเท่านั้น

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ นำตัวชี้วัดผลงานที่กำหนดว่าต้องมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่ น้อยกว่าสามปีการศึกษาย้อนหลังติดต่อกันมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาผลงานที่ ผู้ฟ้องคดีเสนอในหัวข้อคุณภาพนักเรียนซึ่งเป็นอีกหัวข้อหนึ่ง

แล้วแปลความว่าผลงานดังกล่าวจะต้องเป็นผลงานที่ได้รับย้อนหลัง ๓ ปีการศึกษาติดต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๓ ด้วยทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้

กรณีจึงเป็นการแปลความในทางขยายความอันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้บริหารสถาน ศึกษาที่เสนอขอปรับปรุงตำแหน่งและเป็นการขัดกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด

เพราะแม้แต่ตัวชี้วัดของหัวข้อผลงานดังกล่าวก็กำหนดแต่เพียงว่าเป็นเวลาไม่ น้อยกว่าสามปีย้อนหลังเท่านั้น ไม่จำกัดว่าต้องเป็นผลงานปีการศึกษา ๒๕๔๑-๒๕๔๓ ตามที่คณะกรรมการแปลความแต่อย่างใด

คำสั่งไม่อนุมัติ ให้ผู้ฟ้องคดีได้รับการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งดังกล่าวตามรายงานของผู้ถูก ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษายืน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๒๘๓/ ๒๕๔๙)

กล่าวได้ว่าในการแปลความของผู้ถูกฟ้องคดีมีการดำน้ำเกิดขึ้นจริง.

พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
praepim @ yahoo.com

ที่มา: แปลความ กฎหมายข้างตัว เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม 2553

=-=-=-=-
ถ้าตีความ มันก็ต้องเจ็บใช่มั๊ยเจ้าค่ะ ระหว่างคนถูกตี กับ คนตี ใครเจ็บกว่าใครหน๊อ

No comments:

Post a Comment