Thursday, June 10, 2010

บกพร่องในศีลธรรม

ในอนาคตเบื้องหน้าจักถึงยุคมิคสัญญี พระพุทธศาสนาเลือนหายไปจากผู้คน

ไม่มีผู้รักษาศีล ไม่มีผู้มีธรรม ผู้คนต่างพากันฉวยอาวุธออกมาประหัตประหารซึ่งกันและกัน ต่างฆ่าฟันกันไม่เลือกหน้าไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้องลูกเมียมิตรสหายตนเองก็ ตาม

จะมีผู้อยู่รอดเฉพาะผู้ทรงศีล ผู้หลีกเร้นบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ตามป่าเขาเท่านั้น

เด็กวัดเก่าอย่างกระผมได้ยินผู้คนเริ่มพูดถึงคำว่ามิคสัญญีกันบ่อย จึงขออนุญาตหลวงปู่หลวงพ่อนำคำของท่านมาโม้ให้ฟังต่อแบบกะพร่องกะแพร่งเต็ม ที

ในเบื้องหน้าต้องถึงขนาดไม่มีศีลธรรม ผู้คนจึงออกมาฆ่าฟันกัน ครั้นมาในเบื้องนี้ สมัยนี้ต้องถือว่ายังอยู่ระดับบกพร่องในศีลธรรมเท่านั้น

บัญญัติไว้เป็นกฎหมายชัดเจน โดยเฉพาะเพื่อเป็นถนนแผนที่ (เอากะเขามั่ง) โรดแม็พในการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ

เหตุเกิดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยุคที่ยังเป็นปกติสุขไม่มีนักการเมืองเข้ามาวุ่นวายจุ้นจ้าน

ระดับของศีลธรรมของท่านจึงค่อนข้างเคร่งครัดในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานเพื่อรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการตำรวจ ห้ามบกพร่องเป็นอันขาด

ขนาดผู้สมัครสอบคัดเลือกเป็นนักเรียนพลตำรวจรายหนึ่งสอบผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้

แต่ผลการตรวจสอบประวัติปรากฏว่า ว่าที่พลตำรวจรายนี้เคยต้องหาคดีอาญายักยอกจนถึงขั้นพนักงานสอบสวนและ พนักงานอัยการสั่งฟ้องจึงถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการคัดเลือก หรือสอบแข่งขันเป็นข้าราชการตำรวจ

เนื่องจากเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีตามมาตรา ๔๑ (๗) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๒๑

วันประกาศผลสอบรอบสุดท้าย จึงไม่มีชื่อในประกาศ

เรื่องนี้มันยาวยังมีที่มาที่ไปต้องอธิบาย เพราะในคดียักยอกดังกล่าวผู้สมัครรายนี้ให้การปฏิเสธยืนยันว่ามิได้กระทำผิด

และผู้เสียหายในคดีอาญาขอถอนคำร้องทุกข์ เนื่องจากผู้ปกครองของผู้สมัครยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้และศาลสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

การยินยอมชดใช้ค่าเสียหายนั้นมิได้หมายความว่าผู้สมัครรายนี้กระทำผิด เนื่องจากเป็นการกระทำของผู้ปกครองเอง ไม่อยากเป็นคดีความกันในขณะที่ผู้สมัครยังไม่บรรลุนิติภาวะ

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยังมิได้วินิจฉัยว่าได้กระทำผิดอาญาตามคำฟ้อง

โปรดอย่าลืมหลักกฎหมายอาญาที่ว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดก่อนคำพิพากษา

ลืมกันหมดแล้วหรือไร

บอกกล่าวให้อนุกรรมการพิจารณาประวัติและภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งของกอง บัญชาการศึกษากันชัดเจนอย่างนี้ ท่านก็มิฟัง สอบตก เหมือนเดิม ผู้สมัครสอบจึงเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อนุกรรมการดังกล่าวที่ ๒ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่มีมติไม่รับผู้ฟ้องคดีเข้าเป็นนักเรียนพลตำรวจ

ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรณีของผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๔๑ (๗) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๒๑ จริง พิพากษายกฟ้อง

ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คดีนี้ถึงแม้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี แต่ในเวลาต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายถอนคำ ร้องทุกข์และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

จึงเท่ากับว่าศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดตามฟ้อง

ผู้ฟ้องคดีจึง ได้รับการสันนิษฐานไว้ว่ายังไม่มีความผิดตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ (ขณะนั้น) ตำรวจฯไม่ได้บัญญัติความหมายคำว่าผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีไว้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ฟ้อง

การที่จะปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีจึง ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ที่ไม่ได้ต้องหาคดีอาญา

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติไม่ให้ผ่านภาคความเหมาะสมกับตำแหน่งเพราะผู้ฟ้องคดีมีประวัติทางคดี อาญาจึงถือได้ว่า ได้ปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีเสมือนหนึ่งว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิด ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้ฟ้องคดี

ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีหรือไม่

เห็นว่า พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตำรวจฯ มิได้บัญญัติกรณีบกพร่องในศีลธรรมอันดีไว้จึงต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมิได้วินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดถึงแม้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องคดีก็ตาม

ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเยาวชนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานยักยอกอันยอมความได้ แต่ต้องถูกตัดโอกาสที่จะประกอบอาชีพที่ตั้งใจไว้ เช่นนี้ย่อมไม่เป็นธรรมแก่เยาวชนของชาติและเป็น การลงโทษทางปกครองที่หนักเกินไป ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีโอกาสเข้ารับราชการได้ตลอดไป

จึงเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดี ยังไม่ถึงขั้นเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษากลับ ให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่เนื่องจากการสอบคัดเลือกได้ดำเนินการผ่านพ้นมาแล้ว ศาลจึงมีคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับผู้ฟ้องคดีเข้าเป็นนักเรียนพลตำรวจในโอกาสแรกที่จะกระทำได้ ภายใต้เงื่อนไขการสมัครใจและคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีด้วย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๑๒๐/๒๕๕๐)

โรดแม็พจึงไร้ฝุ่นด้วยประการฉะนี้.

พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
praepim@yahoo.com

ที่มา: บกพร่องในศีลธรรม กฎหมายข้างตัว เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2553

=========
กรรมการคัดเลือกพึงสำเนียกเอาไว้ มิเช่นนั้นอาจโดนฟ้อง แล้วจะหาว่า สวยไม่เตือน อิอิ

No comments:

Post a Comment