Saturday, July 3, 2010

ตีแผ่การศึกษา ล้มเหลว เด็กเครียดเกิน

นักวิจัยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เผยระบบการศึกษาไทยล้มเหลว เด็กไทยออกจากรร.กลางคันปีละ9แสน-ใช้เวลาในห้องเรียนมากที่สุดในโลก ระบุแอดมิสชั่นผลักดันเด็กต้องเรียนกวดวิชาจนกดดันเครียด.....

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2553 นายยุทธชัย เฉลิมชัย นักวิจัยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เปิดเผยผลการศึกษาการใช้เวลาในห้องเรียนของเด็กไทยกับประเทศอื่นๆ ว่า เด็กไทยเป็นชาติที่เด็กถูกบังคับให้เรียนในห้องเรียน โดยใช้ชั่วโมงเรียนในแต่ละวันมากที่สุดในโลก เปรียบเทียบกับเด็กจีนที่มีความเครียดสูงด้วย ประชากรที่เยอะ การแข่งขันจึงมีสูง ก็ยังใช้เวลาเรียนในห้องเรียนในแต่ละวันน้อยกว่าเด็กไทย โดย ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องออกจากสถานศึกษากลางคันประมาณปีละ 9 แสนคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยสาเหตุที่ต่างกัน เช่น ครอบครัวยากจน ไร้สัญชาติ ไม่อยากเรียนหนังสือเพราะเบื่อหน่าย ทนรับสภาพความกดดันจากระบบการเรียนการสอนที่เน้นการแข่งขันกันเป็นเลิศทาง วิชาการไม่ไหว

นักวิจัยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กนักเรียนในเมืองและชนบทมีความทุกข์จากระบบการศึกษาไม่ต่างกัน คือใช้เวลาเรียนในห้องเรียนมาก แถมต้องเรียนกวดวิชาตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนเกิดความเครียดและเบื่อหน่าย ซึ่งการเปลี่ยนระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย มาเป็นแบบแอดมิสชั่น ส่งผลให้เด็กวิ่งเข้าหาโรงเรียนกวดวิชามากขึ้น รวมถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นให้เด็กต้องเก่งวิชามาตรฐาน ทำให้ครูต้องสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วย ภาษาอังกฤษ โดยให้ขยายผลให้ได้ 2,500 โรงเรียนในปีการศึกษาหน้า ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าครูจะสอนกับผู้เรียน จะรับไหวหรือไม่ อาจจะยิ่งเป็นการเพิ่มความกดดันให้กับเด็กมากกว่าเดิม

"ผมคิดว่ามี เด็กจำนวน ไม่น้อยอยากลุกขึ้นตะโกนบอกว่า อึดอัด ทุกข์จากความเครียดกับระบบการศึกษามากเพียงใด เปรียบเทียบกับเด็กนักเรียนในจีน ยังมีเวลาว่าง ให้ผ่อนคลายจากการเรียนในแต่ละวัน ดูได้จากตารางเรียนที่เน้นเรียนวิชาการในตอนเช้า และพักกลางวันเวลา 11โมง จากนั้น โรงเรียนจะให้เด็กออกนอกโรงเรียน กลับไปกินข้าวที่บ้าน หรือไปพักผ่อน ถึงบ่าย 2 ค่อยกลับมาเรียนใหม่ และวิชาในช่วงบ่ายจะเป็นวิชาเบาๆ ไม่เครียด เป็นวิชาที่เน้นพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิต ที่พัฒนาคุณภาพของเด็กทางด้านอารมณ์และสังคม"นายยุทธชัย กล่าว

นาย ยุทธชัย กล่าวด้วยว่า ระบบการศึกษาไทย อาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ โดยลดจำนวนชั่วโมงเรียนในห้องเรียนลง เพิ่มการเรียนการสอนที่เน้นการใช้ทักษะ พัฒนาคุณภาพชีวิตมากขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เรียน ที่สำคัญต้องยกเลิกการเรียนการสอนด้วยวิธีบังคับควบคุม เพราะจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจ ขาดความคิดสร้างสรรค์ และไม่กล้าแสดงออก ทั้งนี้ถึงเวลาแล้วที่การศึกษาไทยจำเป็นต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลง เพื่อหนีออกจากความล้มเหลวในปัจจุบัน ไม่เช่นนั้น ก็อาจจะไม่สามารถเดินหน้าพัฒนาการศึกษาให้ไปสู่เป้าหมายที่เป็นสากลได้

ที่มา: ทีมข่าวการศึกษา ไทยรัฐออนไลน์ 3 กรกฎาคม 2553

No comments:

Post a Comment