Thursday, July 8, 2010

ประกันอุบัติเหตุนักศึกษา

ท่านรัฐมนตรีนำคณะผู้ว่าฯไปดูงานแถว ๆ ยุโรปทำเป็นตกอกตกใจ

เรื่องเที่ยว เอ๊ย ไปศึกษาดูงานต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ที่ชอบกันมาก

ทั้งข้าราชการและฝ่ายการเมือง ทั้งการเมืองระดับชาติยันการเมืองท้องถิ่น เรื่องนี้ลงตัวกันดี

มีปัญหาไม่ลงตัว ทะเลาะกันมั่งพอเป็นกระสายเรื่องจะเอาคนนอกโควตาไปด้วย

เรื่องกิน เรื่องเที่ยวพี่ไทยเราชอบนัก ตายไปแล้วหลวงพ่อหลวงปู่สอนว่ายังต้องไปท่องเที่ยวในสังสารวัฏกันอีกยาวนาน

เพราะฉะนั้น รักกันจริงอย่าห้าม ของฟรีนะตัวเอง

ทำเป็นหงุดหงิดทางการเมืองพอแก้ขวยไปงั้น ๆ แหละ เดี๋ยวก็ถึงทีตัวเองมั่ง

เออ ถ้าต้องใช้เงินส่วนตัวเพื่อการเดินทางไปศึกษาดูงานเหมือนพวกเด็ก ๆ มั่ง อาจมีปัญหา

สภามหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งเป็นห่วงนักศึกษาที่เดินทางมาเรียนเกรงว่าจะ เกิดอุบัติเหตุขึ้น ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะกันเยอะ และบางทีต้องมีการศึกษาดูงานนอกสถานที่

จึงปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า อย่ากระนั้นเลยให้ทุกคนทำประกันไว้ น่าจะดี

ท่านออก ระเบียบ สภาประจำสถาบันราชภัฏว่าด้วยการประกันอุบัติเหตุ และออก ประกาศ สถาบันราชภัฏ เรื่อง การรับและจ่ายเงินประกันอุบัติเหตุ กำหนดให้นักศึกษาทำประกันอุบัติเหตุทุกคน

เก็บเบี้ยประกันนิดหน่อยคนละสองร้อยบาท ใครไม่อยากทำให้ทำหนังสือแจ้งมาให้ชัดเจน

ตรวจดูข้อกฎหมายแล้วอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๐ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สถาบันราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๓๘ ทำได้สบายมาก

สบายไปได้สักพัก มีนักศึกษาสิบสามคนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ยกเลิกหรือแก้ไขระเบียบและ ประกาศดังกล่าว และให้คืนเงินประกันอุบัติเหตุทั้งหมด

ทั้งสิบสามคนไปยื่นขอชำระเงินค่าลงทะเบียนเรียน แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินไม่ยอมลงทะเบียนให้ อ้างว่านักศึกษาดังกล่าวทั้งหมดยังไม่ได้ชำระเงินค่าประกันอุบัติเหตุ

สิบคนยอมจ่ายค่าประกันอุบัติเหตุจึงได้ลงทะเบียนเรียบร้อย อีกสามยังไม่จ่ายแต่ขอผสมโรงร่วมกระชับระเบียบและประกาศกับเขาด้วย

มหาวิทยาลัยราชภัฏผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สภามหาวิทยาลัย ที่ ๒

เรื่องนี้อันที่จริงเป็นนโยบายจัดให้บริการและสวัสดิการอย่างหนึ่งแก่นัก ศึกษาและเป็นเรื่องการจัดให้มีการศึกษาทั้งในและนอกสถานที่จำเป็นต้องดูแล ความปลอดภัยนักศึกษา แล้วมิได้ไปบังคับให้ต้องทำทุกคน ใครไม่อยากทำประกันก็ให้แจ้งเป็นหนังสือมาให้มหาวิทยาลัย

ผิดตรงไหน อย่างนี้มีได้เสีย

อ้าว แล้วกัน ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบและประกาศดังกล่าว ให้คืนเงินแก่นักศึกษาผู้ฟ้องคดีคนละสองร้อยบาทภายในสามสิบวัน

ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ประเด็นสำคัญที่ว่ามหาวิทยาลัยผู้ถูกฟ้องคดีสามารถออกระเบียบดังกล่าวได้โดย ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๓๐ (๒) แห่ง พ.ร.บ. สถาบันราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๓๘ นั้นเป็นฉันใด

ในทางการบริหารนั้นชอบแล้ว ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เนื้อหาของระเบียบมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองนักศึกษาที่ประสบ อุบัติเหตุ

ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งของมหาวิทยาลัยผู้ถูกฟ้องคดีในส่วนของการจัดบริการและ สวัสดิการแก่นักศึกษา แม้จะมิใช่วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งสถาบันราชภัฏ แต่ก็เป็นไปเพื่อรองรับการดำเนินกิจการของผู้ถูกฟ้องคดี

แต่ทางกฎหมาย ที่อ้างว่าทำได้ตาม พ.ร.บ.สถาบันราชภัฏฯ โดยชอบนั้นเล่า การทำประกันเป็นนิติกรรมสัญญาอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ห้ามลืมเป็นอันขาด

ดันลืม

ท่านวินิจฉัยว่าเนื้อหาตามระเบียบได้กำหนดให้นักศึกษาทุกคนมีการทำประกัน อุบัติเหตุ ซึ่ง ขัดกับหลักเสรีภาพในการแสดงเจตนาเพื่อทำนิติกรรมตามนัยมาตรา ๑๔๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจกำหนดระเบียบให้นักศึกษาทุกคนทำประกันอุบัติเหตุโดยปราศจากความยินยอม

ระเบียบจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับประกาศสถาบันเรื่องการรับและจ่ายเงินประกันอุบัติเหตุฯ มีเนื้อหาขัดต่อหลักเสรีภาพในการแสดงเจตนาเพื่อทำนิติกรรมเช่นเดียวกับ ระเบียบที่ได้วินิจฉัยแล้ว

ผู้ถูกฟ้องคดีจึง ไม่มีอำนาจเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุจากนักศึกษาผู้ไม่สมัคร ในการทำสัญญาประกันอุบัติเหตุ

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาแก้ ให้คืนเงินค่าประกันอุบัติเหตุเฉพาะผู้ฟ้องคดีที่ชำระเงินแล้วจำนวนสิบคน ส่วนที่มั่วนิ่มผสมโรงมาอีกสามคนไม่ต้องจ่ายคืน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๓๐๖/ ๒๕๔๙)

จะเอาอย่างการดูงานเมืองนอกของท่าน ๆ ได้อย่างไร นั่นเขาใช้เงินภาษีชาวบ้านทั้งนั้น

พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
praepim @ yahoo.com

ที่มา: ประกันอุบัติเหตุนักศึกษา กฎหมายข้างตัว เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2553
====
พวกใช้เงินภาษีชาวบ้านนี้มันเลวจิง ๆ จ้าวค่ะ

No comments:

Post a Comment