Thursday, July 8, 2010

การให้อภัยในคดีฟ้องหย่า

เดิมน้องและสามีมีปัญหาเรื่องสามีมีผู้หญิงอื่น จนถึงขนาดต้องฟ้องศาลเพื่อขอหย่า แต่สามีไปเจรจาที่ศาลยอมตกลงว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงอื่นอีกต่อไป น้องจึงตกลงให้อภัยยอมถอนคดีออกจากศาล และเราจึงกลับมาอยู่ด้วยกันอีก แต่ปรากฏว่าสามีไม่ได้เลิกแต่ประการใด ทั้งยังติดต่อกับผู้หญิงคนใหม่อีกด้วย น้องอยากทราบว่าที่น้องไปถอนคดีที่ศาลโดยยอมให้อภัยสามีในเรื่องผู้หญิงแล้ว นั้น จะถือว่าน้องได้ให้อภัยสามีที่เกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงตลอดไปหรือไม่

====
กรณีเมื่อมีเหตุฟ้องหย่าแล้ว ถ้าต่อมาคู่สมรสสละสิทธิซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่า โดยการกระทำที่แสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็น เหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น ในกรณีที่มีหลายเหตุต้องให้อภัยในทุกเหตุจึงจะหมดสิทธิฟ้องหย่า เพราะถ้าให้อภัยในเหตุหย่าอย่างหนึ่ง ต่อมาประพฤติผิดเหตุหย่าอีกอย่างหนึ่ง ก็ยังมีสิทธิฟ้องหย่าในเหตุใหม่ได้

เช่นเดียวกันถ้ามีเหตุหย่าและเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง สิทธิฟ้องหย่าจะหมดไปทั้งหมดได้ก็ต้องเป็นการให้อภัยทุกครั้งทั้งหมดที่เป็น เหตุหย่า การให้อภัยเฉพาะครั้งจะถือว่าได้ให้อภัยครั้งอื่นด้วยย่อมไม่ได้ และการให้อภัยจะต้องไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เพราะถ้ายังมีเงื่อนไขแสดงว่ายังไม่ยกโทษให้ ดังนั้นการที่ภริยาเคยฟ้องหย่าสามี ต่อมาได้มีการถอนฟ้องคดีก่อนศาลตัดสิน เพราะสามีตกลงเงื่อนไขกับภริยาว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นอีกต่อไป หรือจะไม่นำหญิงอื่นเข้ามาอยู่ในบ้าน

ต่อมาสามีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยไปอยู่กินกับหญิงอื่นอีก จึงมิใช่กรณีที่ภริยายอมให้อภัยสามีในเรื่องผู้หญิงตลอดไป ทั้งยังถือได้ว่าเป็นการที่คู่สมรสกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามี ภริยาอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นเหตุฟ้องหย่าอีกประการหนึ่งนอกจากเหตุที่สามีอุปการะเลี้ยงดูยกย่อง หญิงอื่นฉันภริยา การที่สามีได้อยู่กินกับหญิงอื่นตลอดมาโดยไม่เลิก ถือว่าเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องมาโดยตลอดโดยถือว่าเหตุฟ้องหย่านี้ยังมีอยู่ ตลอดมาเช่นกัน และเป็นเหตุฟ้องหย่าที่ไม่อาจจะนำหลักการให้อภัยล่วงหน้ามาใช้อ้างได้

ที่มา: การให้อภัยในคดีฟ้องหย่า คลินิกกฎหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคารที่ 06 กรกฎาคม 2553

No comments:

Post a Comment