Thursday, July 8, 2010

(ขอ)ขยายเวลาทำงาน(รับเหมาก่อสร้าง)

ขออนุญาตท่านผู้อ่านเข้าคลุกวงในการจัดซื้อจัดจ้างกับทางราชการอีกวัน แฟน ๆ ในวงการขอร้องมาอีกบางประเด็น

เรื่องการขอขยายกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาของเอกชน ผู้ไม่มีเส้น ขอขยายเมื่อไร ท่านไม่ค่อยให้หรือให้มากะพร่องกะแพร่งเต็มทีทั้ง ๆ ที่มีเหตุจำเป็นจริง ๆ

ทำไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ต้องจ่ายค่าปรับเป็นรายวันแทบล้มละลาย

อันที่จริงน่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย ทางราชการผู้ว่าจ้างจะซี้ซั้วอนุญาตตะพึด เขาก็หาว่ามีนอกมีใน งานก็ล่าช้า ยุ่งยากไปถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ

ส่วนทางเอกชนผู้รับจ้างนั้นเล่า เห็นเขาเรียกว่าเสี่ยผู้รับเหมาดูมีสตุ้งสตางค์น่าอิจฉา แต่จะรู้บ้างไหมเนี่ยว่ากว่าจะได้งานมาสักโครงการโคตรเหนื่อยฉิบหาย

ป.ล. คำว่าฉิบหายไม่หยาบนะขอรับ เป็นภาษาอุทานในคำพระคำเจ้า

ทำงานไม่แล้วเสร็จตามกำหนด โดนยกแรกก็คือการปรับกรณีก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ถูกสั่งปรับเป็นรายวัน การยึดหลักประกันซองรอคิวอันเหมาะสมต่อไป

แหม ถ้าเพียงเจ้านายท่านเมตตาอนุญาตให้ขยายเวลาได้ตามที่ขอ เรื่องย่อมจบด้วยดี

เป็นดุลพินิจของท่านตามสัญญาอย่างเต็มที่ว่าจะให้ขยายได้เท่าใดเพื่อให้ได้ เนื้องาน แต่ดันไม่อนุญาตเสียดื้อ ๆ ทั้งที่เอกชนเขามีเหตุความจำเป็น จะฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง ได้ไหม

ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่งพบปัญหานี้เต็ม ๆ เมื่อตกลงทำสัญญารับจ้างกรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนน

สัญญากำหนดให้ก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ๑๘๐ วัน ถ้าไม่เสร็จตามกำหนดปรับวันละสองหมื่นกว่าบาท

ถึงเวลาทำงานจริงมีปัญหาอุปสรรคเยอะแยะไปหมด ดูท่าไม่เสร็จแน่ ๆ จึงขอขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก ๑๐๐ วัน

ท่านขยายให้แค่ห้าสิบเอ็ดวัน อุทธรณ์ไปอีก ท่านเพิ่มให้อีก ตั้งสามวันรวมเป็นห้าสิบสี่วัน

ให้แค่นี้ ยังไงก็ไม่ทัน นี่ขอโดยความสงบ สันติ อหิงสาแล้วนะเฟ้ย ยังโดนปรับหมดตูดแน่ จึงฟ้องกรุงเทพมหานครผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ ๒ ต่อศาลปกครอง

โทษฐานอนุมัติให้ขยายเวลาเพียงห้าสิบสี่วันนั้นนะ มีผลทำให้ห้างหุ้นส่วนผู้ฟ้องคดีถูกปรับเป็นรายวันวันละสองหมื่นกว่าบาท จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีต่ออายุสัญญาออกไปอีกสี่สิบหกวัน ขอให้เพิกถอนคำสั่งเดิม และพิจารณาคำขอใหม่

ศาลปกครองชั้นต้น วินิจฉัยว่าสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีเป็นสัญญาทางปกครองกรณี นี้หากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการต่อ อายุสัญญาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าปรับ ประกอบกับยังไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ทำการหักเงินค่าปรับจากผู้ฟ้องคดีไว้แล้วแต่อย่างใด จึงยังไม่อาจถือได้ว่าได้มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิตามสัญญาทางปกครอง ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิฟ้องคดี มีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณา

ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้อง ยังไง ๆ ก็ต้องจ่ายค่าปรับแน่จึงเป็นผู้ที่อาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ตามสัญญากำหนดว่าการขยายกำหนดเวลาทำงานอยู่ในดุลพินิจของผู้ว่าจ้างที่จะพิจารณาตามที่เห็นสมควร

การขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีอนุมัติการต่ออายุสัญญาจ้างให้ผู้ฟ้อง คดีออกไปอีก ๔๖ วัน และให้เพิกถอนคำสั่งอนุมัติและผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ให้ต่อ เพียง ๕๔ วัน ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่จะอนุมัติให้หรือไม่ก็ได้

และ เป็นคำขอให้ศาลปกครองสั่งให้กระทำการหรืองดเว้น กระทำการนอกเหนือหรือเกินไปกว่าที่กำหนดในสัญญา

ซึ่งศาลไม่อาจออกคำบังคับได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ

และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ใช้ดุลพินิจในการอนุมัติให้มีการต่ออายุสัญญาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว จึงเป็นการใช้สิทธิตามสัญญา

มิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมาย ของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีที่จะมีลักษณะเป็น คำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

กรณีพิพาทในคดีนี้จึง มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดี ไม่คืนหลักประกันตามสัญญา ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ปราศจากมูลอันจะอ้างได้ตามข้อกำหนดในสัญญา ผู้ฟ้องคดีย่อมมี สิทธิเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการหรือฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และยกเหตุเช่นว่านั้นขึ้นต่อสู้ได้

มีคำสั่งยืน ตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น (คำสั่งที่ ๘๖๓/ ๒๕๔๙)

ก้มหน้าก้มตาจ่ายค่าปรับเป็นการปรองดองกับ กทม.เสีย โดยดี.

พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
praepim @ yahoo.com

ที่มา: ขยายเวลาทำงาน กฎหมายข้างตัว เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ ที่ 19 มิถุนายน 2553

No comments:

Post a Comment